โซดาซ่า ดูบอล
Menu
กรุณากดปุ่ม แชร์ ให้เพื่อนๆได้มาดูด้วย

โรคตาหายไว เมื่อรู้วิธีใช้ยาหยอดตาและยาป้ายตาที่ถูก

ยารักษาโรคตามักอยู่ในรูป ‘ยาหยอดตา’ ครีมหรือเจล ซึ่งสัมผัสกับดวงตาโดยตรง จึงทำให้ยามีความเข้มข้นที่ส่วนหน้าของลูกตามากที่สุด ซึ่งยาลักษณะนี้มีข้อดีคือ ช่วยลดผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายได้ ทั้งความแตกต่างระหว่างน้ำตาที่เข้มข้นไปด้วยยากับเนื้อเยื่อดวงตา ทำให้เกิดการดูดซึมของยาผ่านกระจกตาและเยื่อตาที่แห้งง่ายเกิดขึ้นได้ดีด้วย

 

ปริมาณยาหยอดตาที่ยังคงอยู่ในดวงตา
ปกติแล้ว ปริมาณยาหยอดตาในท้องตลาด หนึ่งหยดจะเท่ากับ 50 ไมโครลิตรโดยประมาณ ในขณะที่ปริมาตรแอ่งน้ำตาของคนปกติในท่านั่งโดยกะพริบตาจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 ไมโครลิตร ดังนั้นจึงมีปริมาณยาเพียง 20% (10 ไมโครลิตร/50 ไมโครลิตร) หรือหนึ่งในห้าของหนึ่งหยดที่หยอดตาที่ยังคงอยู่ในดวงตา ทั้งในภาวะปกติก็ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการคงอยู่ของยา เช่น การหมุนเวียนของของเหลวในแอ่งน้ำตาที่เกิดขึ้น 16% ต่อนาที และอัตราการหมุนเวียนนี้จะเร็วกว่าเดิมเมื่อมีน้ำตาจากการระคายเคืองเกิดขึ้น

 

ระยะเวลาที่ยาอยู่ในแหล่งกักเก็บน้ำตาและน้ำตาจะเรียกว่า ‘เวลาคงอยู่ของยา’ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสูตรของยา รวมถึงยาชนิดอื่นที่หยอดตามภายหลัง ทั้งยังเกี่ยวกับการผลิตและการระบายน้ำตาตามธรรมชาติอีกด้วย 

 

การดูดซึมของตัวยาในยาหยอดตากับการเว้นระยะเวลาการใช้ยาหยอดตา
ยาหยอดตาที่ถูกดูดซึมอย่างช้าๆ (slowly absorbed drugs) จะมียาเพียง 50% หรือครึ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในแอ่งน้ำตา ซึ่งมีปริมาณยาเท่ากับ 10% ของยาตั้งต้น (50% ของ 20% ของยาที่ถูกหยอด) ปริมาณยานี้จะคงอยู่ในแอ่งน้ำตาเพียง 4 นาทีหลังหยอด และเหลือเพียง 17% หรือ 3.4% ของยาตั้งต้นเมื่อเวลาผ่านไป 10 นาที

 

ดังนั้นผู้ป่วยที่หยอดยามากกว่า 1 ชนิด จึงควรเว้นระยะเวลาระหว่างหยดประมาณ 5 นาที เพื่อไม่ให้ยาตัวแรกถูกล้างออกจากตาโดยยาที่หยอดตามหลัง นอกจากนั้นการกะพริบตายังลดประสิทธิภาพของยาโดยการกระตุ้นให้เกิดการดูดน้ำตาจากถุงท่อน้ำตา (lacrimal sac) เข้าสู่หลังโพรงจมูก ส่งผลให้ความดันในถุงท่อน้ำตาเป็นลบ และทำให้แอ่งน้ำตาว่างเปล่าหรือไม่มีน้ำตา 

 

หยอดตาแล้วน้ำตามักไหลออก…ควรทำอย่างไร ?
การหลีกเลี่ยงการสูญเสียยาที่อยู่ในแอ่งน้ำตาทำได้ 2 วิธี คือ 1.การใช้นิ้วกดที่หัวตา และ 2.การหลับตาเป็นเวลา 5 นาทีหลังหยอดยาแต่ละหยด ทั้ง 2 วิธีนี้จะช่วย

ป้องกันการสูญเสียยาที่อยู่ในแอ่งน้ำตา 
ลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย โดยลดการดูดซึมของยาที่เยื่อบุจมูก
เพิ่มการดูดซึมเฉพาะที่ของยาหยอดตาที่ใช้
 

ระยะเวลาที่ยาคงอยู่ในแหล่งกักเก็บน้ำตา และระยะเวลาที่ยาสัมผัสกับดวงตานั้นสามารถทำให้นานขึ้นได้โดยการเพิ่มความเหนียวของตัวน้ำยา หรือใช้พาหะในการนำยา (drug delivery objects) เช่น เลนส์สัมผัส คอลลาเจนครอบกระจกตา (collagen shields) และอุปกรณ์พิเศษใส่ในถุงเยื่อตา

 

อนุภาคหรือโมเลกุลของยาที่ละลายน้ำและมีขนาดเล็ก สามารถซึมผ่านเยื่อตาได้มากกว่ากระจกตาถึง 20 เท่าโดยประมาณ และเยื่อตาที่อยู่รอบกระจกตาเป็นตำแหน่งสำคัญที่ยาสามารถซึมผ่านตาขาวเข้าไปในโครงสร้างส่วนหน้าของลูกตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการซึมผ่านของยาเข้าไปในกระจกตามี 9 ประการด้วยกัน ได้แก่ 

1.ยามีความเข้มข้นที่เหมาะสมและสามารถละลายได้ในตัวนำยา 
2. ความเหนียวของยา 
3. ความสามารถของยาในการละลายในไขมัน 
4. ความเป็นกรด-ด่างของยา
5. รูปประจุและการแตกกิ่งก้านที่ตำแหน่งต่างๆ ของยา 
6. ขนาดอนุภาคของยา 
7. โครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีของยา 
8. ตัวนำยา 
9. สารลดแรงตึงผิว
 

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้การซึมผ่านของยาหยอดตาลดลง ?
การลดลดของการซึมผ่าน จะเกิดจากน้ำตาที่เกิดจากการระคายเคือง การเกาะของยาที่ออกฤทธิ์กับโปรตีนในน้ำตาและเนื้อเยื่อมีผลต่อชีวปริมาณออกฤทธิ์หรือ “ชีวประสิทธิผล” (drug bioavailability) หรือก็คือ “สัดส่วนของยา” ที่เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย ซึ่งจะเป็นตัวพายาไปสู่บริเวณที่ยาออกฤทธิ์

 

ทั้งนี้ สารกันเสียที่ใช้ในยาหยอดตาหลายชนิดเป็นสารลดแรงตึงผิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนการขวางกั้นของเยื่อบุผิวกระจกตา และช่วยเพิ่มการซึมผ่านของยาเข้าไปในกระจกตาได้

 

วิธีใช้ยาหยอดตาและยาป้ายตาที่ถูกต้อง
1. ทบทวนคำสั่งแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
2. ตรวจสอบชื่อยา วันหมดอายุ ความสะอาด สภาพขวดหรือหลอดยา รวมถึงปลายขวดหรือหลอด ซึ่งไม่ควรมีรอยแตกหรือบิ่น  
3. ล้างมือให้สะอาด 
4. นอนหงายหรือแหงนหน้าขึ้นเพดาน ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดดึงเปลือกตาล่างลง และใช้มือข้างที่ถนัดจับขวดหรือหลอดยา
5. หยอดยา 1 หยดลงไปที่กระพุ้งตาโดยไม่ให้ปลายขวดสัมผัสดวงตา นิ้ว ขนตา หรือบริเวณรอบดวงตา เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในขวดยา
6. หลังหยอดยาเสร็จ ใช้นิ้วชี้กดบริเวณหัวตาหรือหลับตานิ่ง 5 นาที 
7. ใช้กระดาษทิชชู สำลี หรือผ้าสะอาด เช็ดยาที่เกินออกมาสัมผัสผิวส่วนอื่น เช่น เปลือกตาบน ขอบตาล่าง ขนตา ผิวหนังรอบดวงตา สำหรับยาหยอดที่ไม่ใช่น้ำตาเทียมหรือเป็นสารเคมี ให้ใช้กระดาษทิชชู สำลี หรือผ้าชุบน้ำบิดให้แห้งแล้วเช็ดบริเวณดังกล่าวให้สะอาด
8. การใช้ยาป้ายตา ให้ทำตามข้อ 3 และข้อ 4 โดยป้ายยาลงในกระพุ้งตา ถ้ามียาหยอดในเวลาเดียวกัน ให้หยอดยาน้ำก่อน โดยทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วจึงใช้ยาป้าย
9. หากมียามากกว่า 1 ชนิด ควรเว้นระยะห่างในการหยอดยาแต่ละชนิด โดยห่างกันอย่างน้อย 5-10 นาที
10. ปิดฝาขวดหรือฝาหลอดยาให้แน่นหลังใช้เสมอ ไม่ต้องล้างปลายขวดหรือปลายหลอดก่อนปิด และควรเก็บยาที่เดิมในตู้เย็น
11. ล้างมือหลังหยอดยาหรือป้ายยาเสมอ
12. หากใส่คอนแทคเลนส์ ควรถอดออกก่อนหยอดยา หลังหยอดยาควรรอ 15 นาที จึงใส่คอนแทคเลนส์กลับได้ตามปกติ

โพสต์โดย : เจ้าหนู เจ้าหนู เมื่อ 6 ธ.ค. 2566 19:22:34 น. อ่าน 134 ตอบ 0

facebook